fbpx

เสาเข็มก็เหมือนกับความรัก “มองไม่เห็นด้วยตา แต่เป็นพื้นฐานที่สำคัญ”

            หลายคนที่ต้องการต่อเติมบ้าน มักจะมีคำถามเรื่องการลงเสาเข็ม
ว่าควรจะใช้แบบไหนดีหรือว่าจำเป็นต้องลงมั้ย โครงสร้างแค่นี้เอง คำตอบที่ถูกต้องจริง ๆ แล้วค่อนข้างมีรายละเอียดที่คงต้องนั่งคุยกันอีกสักพัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรูปแบบ ขนาด วัตถุประสงค์หรือสถานที่ที่ต้องการต่อเติม การสร้างหรือต่อเติมส่วนใหญ่จะทำบนโครงสร้างเดิม จึงควรให้วิศวกรตรวจสอบว่ารากฐานเดิมสามารถรับน้ำหนักได้หรือไม่ ถ้าหากว่าส่วนที่ต่อเติมมีน้ำหนักมากจนโครงสร้างเดิมรับน้ำหนักไม่ไหว จะต้องมีการตอกเสาเข็มเพื่อเสริมตัวโครงสร้างเดิมหรือโครงสร้างที่เพิ่มออกมาด้วย ถ้าหากไม่มีการเสริมฐานรากใหม่ อาจเกิดความเสียหายและปัญหาตามมา เช่น การเกิดรอยร้าวตามผนังหรือมุมบ้าน การทรุดตัวที่ไม่เท่ากันระหว่างส่วนที่ต่อเติมกับบ้านเดิม และอาจจะบานปลายเป็นปัญหาใหญ่ ถึงขั้นที่ต้องทุบทิ้งทำใหม่ก็เป็นได้

    สาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดการทรุดตัวของบ้านคือไม่ได้ลงเสาเข็ม หรือเสาเข็มสั้นเกินไป การก่อสร้างในระบบฐานรากตื้น เช่นการใช้เสาเข็มสั้น 6 เมตร หรือชั้นดินที่มีลักษณะเป็นดินเหนียวอ่อน เมื่อมีน้ำหนักส่งผ่านจากเสาเข็มลงสู่ดินหรือระดับของน้ำใต้ดินลดต่ำลง ดินจะยุบตัวมากและเป็นผลให้เสาเข็มทรุดตัวตามไปด้วย เสาเข็มแตกหักเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้บ้านมีปัญหาทรุดตัว ส่วนมากเสาเข็มจะแตกหักหรือเกิดการชำรุดในขณะที่ติดตั้ง เมื่อเสาของบ้านไม่ตรงกับเสาเข็มจะทำให้ฐานรากพลิกตัว หากสภาพเช่นนี้เกิดขึ้นกับฐานรากส่วนใหญ่จะทรุดเอียง ปลายเสาเข็มอยู่บนดินต่างชนิดกัน ปลายเสาเข็มบางส่วนของบ้านอาจอยู่ในดินเหนียวแข็งหรือชั้นทราย แต่ปลายเสาเข็มอีกส่วนหนึ่งอาจอยู่ในดินอ่อน ทำให้ฐานรากของบ้านทรุดตัวแตกต่างกัน เกิดการเคลื่อนตัวของดิน การเคลื่อนตัวของดินมักจะเกิดจากผลกระทบจากภายนอก เช่น มีการขุดดินบริเวณข้างเคียงทำให้ดินเคลื่อนตัวดันเสาเข็มของบ้านให้เคลื่อนจากตำแหน่งเดิม เป็นสาเหตุการทรุดตัวที่มักจะเกิดขึ้นภายหลังจากสร้างบ้านเสร็จเรียบร้อยแล้ว

      การต่อเติมบ้านของผู้รับเหมาบางเจ้า เน้นที่ราคาถูกไว้ก่อน ไม่ได้คำนึงถึงโครงสร้างในระยะยาว หรือบางที่ก็โยนความรับผิดชอบให้ลูกค้า โดยให้ลูกค้าเป็นผู้เลือกเอง ไม่มีการให้คำแนะนำที่ถูกต้อง ส่งผลให้ส่วนที่ต่อเติมเกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมาดังเช่นในภาพนี้

          ทำให้ลูกค้าต้องมาเสียเงินซ่อมแซมในภายหลัง ซึ่งส่วนใหญ่ต้องบอกว่า “ปัญหาไม่จบ” เพราะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะฉะนั้นการต่อเติมครัวหรือส่วนต่อเติมใดๆ นอกจากจะต้องแยกโครงสร้างออกจากตัวบ้านแล้ว ควรจบงานรอยต่อพื้นและผนังให้ถูกต้องด้วย ข้อผิดพลาดที่พบบ่อยคือ ช่างมักก่อผนังหรือหล่อพื้นชนเชื่อมติดกับบ้านเดิม ต่อมาเมื่อพื้นดินทรุดตัวลงจากน้ำหนักกดทับของส่วนต่อเติม อาจรวมถึงปัจจัยอื่น เช่น พื้นดินถมไว้ไม่นานพอ หรือเคยเป็นบ่อบึงมาก่อนเป็นต้น ส่วนต่อเติมก็จะทรุดตามพื้นดินจนเกิดการฉีกขาดแตกร้าวบริเวณรอยต่อ ทำให้น้ำรั่วซึมเข้ามาได้ง่าย วิธีที่ถูกต้องคือให้ใช้โฟมคั่นระหว่างรอยต่อดังกล่าว ก่อนจะยาแนวด้วย PU หรือ Silicone นอกจากนี้เพื่อให้การทรุดตัวเป็นไปอย่างช้าๆ อาจเลือกใช้วัสดุกับเฟอร์นิเจอร์ที่มีน้ำหนักเบา รวมถึงกระจายน้ำหนักเฉลี่ยหลายด้านเพื่อหลีกเลี่ยงการทรุดตัวแบบเอียง

เนื่องจากหลาย ๆ คนคิดว่า การลงเสาเข็มนั้นเป็นเรื่องที่เพิ่มงานและค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างขึ้นมาพอสมควร จึงคิดว่าหากเลี่ยงได้ก็จะช่วยประหยัดทั้งค่าแรง เวลาและค่าใช้จ่ายลง “แต่ในความเป็นจริงแล้ว การที่เราจะต้องลงเสาเข็มหรือไม่นั้น มันอยู่ที่ความจำเป็นและความเหมาะสม” การปลูกสิ่งก่อสร้างบนพื้นที่มีสภาพดินอ่อน หรือ ต้องการให้อาคารที่ความมั่นคงแข็งแรงรองรับกับสภาพการใช้งาน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้งานเสาเข็มช่วยรองรับน้ำหนัก ไม่เช่นนั้นหากโครงสร้างไม่เหมาะสมกับการรับน้ำหนัก จะก่อให้เกิดปัญหาการทรุดตัวของส่วนที่ต่อเติม ซึ่งหากว่าเกิดความเสียหายกับโครงสร้างที่เป็นตัวรองรับน้ำหนักก็อาจจะเกิดอันตราย มีความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งไม่คุ้มกันเลยกับค่าใช้จ่ายและเวลาที่เราใช้ไปในการลงเสาเข็มเพิ่ม 

The One House เรามีวิศวกรชำนาญการที่คอยให้คำปรึกษาเรื่องงานก่อสร้างที่ถูกต้อง เพื่อให้การต่อเติมถูกหลักวิศวกรรม ปลอดภัย คุ้มค่าในระยะยาว หมดกังวลเรื่องปัญหาที่ตามมาครับ 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *